อักษร ก – ช

อักษร ก

กงดีด

                ไม้ดีดฝ้ายให้เป็นปุยแตกออกจากกัน ทำด้วยไม้ไผ่คล้ายคันกระสุน แต่ด้านหนึ่งยาวกว่าอีกด้านหนึ่ง มีเชือกขึงเป็นสายสำหรับดีดฝ้าย การดีดต้องใช้ด้านยาวลงไปดีดฝ้ายที่อยู่ในกะเพียดหรือภาชนะใส่ฝ้าย โดยดึงสายกงแล้วปล่อยสลับกันไปเรื่อยๆ จนปุยฝ้ายฟู จึงขยุ้มปุยฝ้ายไปพันรอบไม้กลมๆ คล้ายตะเกียบอย่างหลวมๆ เพื่อไปปั่นเป็นเส้นด้ายต่อไป

กงปั่นฝ้าย

                ที่ม้วนเส้นฝ้ายให้เป็นระเบียบ ทำด้วยไม้ รูปร่างคล้ายหลอดด้ายขนาดใหญ่ แต่กลางโปร่ง มีขาและฐานทำให้หมุนได้ ใช้ม้วนเส้นด้ายที่สาวไว้ในระวิงให้เป็นระเบียบ

กงหลา(ถิ่น-อีสาน)

                เครื่องสำหรับกรอด้ายกรอไหม ทำด้วยไม้ไผ่ไขว้กัน มีเชือกโยงจากปลายกง ทำให้นำฝ้ายหรือไหมจากระวิงสอดเข้าไปได้ เพื่อจัดให้เป็นปอยและเป็นไจก่อนนำไปค้นหูก

กวัก(ถิ่น-อีสาน)

                เครื่องกรอด้ายหรือกรอไหม บางถิ่นเรียกอัก

กรมช่างไหม

                กรมช่างที่มีหน้าที่ดูแลการเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหม ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สถานปนาขึ้นเมื่อ ร.ศ. ๑๒๘ หรือ พ.ศ. ๒๔๕๒ ณ ตำบลศาลาแดง พระนคร มีกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเป็นอธิบดีคนแรก เดิมกรมช่างไหมอยู่ในกระทรวงเกษตราธิการ กรมช่างไหมที่ตั้งขึ้นใหม่จึงมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการเลี้ยงไหม ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้นที่วังสระปทุม ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเกษตร และโปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวญี่ปุ่นมาเป็นครูช่างไหมด้วยเพราะชาวญี่ปุ่นนิยมเลี้ย้งไหมเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน คุณภาพจึงดีกว่าของไทย พันธุ์หม่อนญี่ปุ่นใบใหญ่และดกกว่าใบหม่อนไทย และมีหลายชนิด จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับภูมิอากาศของไทยมาปลูก และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องสาวไหมแบบญี่ปุ่นที่สาวได้เร็วและได้เส้นไหมสม่ำเสมอมากกว่าแล้วแจกเครื่องสาวไหมให้ราษฎรไป ๔๐๘ เครื่อง ดังนั้นการเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหมแบบพื้นเมืองในภาคอีสานส่วนหนึ่งจึงเปลี่ยนมาเป็นแบบญี่ปุ่น แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมสิ้นพระชนม์แล้วก็ไม่มีผู้ใดสนใจส่งเสริม โรงเรียนช่างไหมจึงล้มไปในปีพ.ศ. ๒๔๕๖

กรรปาสิก

                ผ้าฝ้ายโบราณชนิดหนึ่ง

กรรปาสิกพัสตร์

                ผ้าที่ทอด้วยฝ้ายหรือผ้าฝ้าย

กรรมา

                ผ้าขาวม้าโบราณสมัยอยุธยา

กรอ

                การม้วนด้ายเข้าหลอดด้วยไนหรือเครื่องจักร เพื่อนำไปทอหรือใส่กระสวยสำหรับทอผ้า

กรองทอง

                ผ้าที่เกิดจาการนำเส้นทองหรือไหมมาถักทอประกอบกัน หรือทอสอดด้วยทองแล่งหรือเงินแล่ง มักใช้เป็นผ้าสไบที่ห่มทับลงบนผ้าสไบอีกชั้นหนึ่ง จึงเป็นผ้าหน้าแคบขนาดเท่าผ้าสไบ แต่ชายผ้าปล่อยเป็นชายครุย บางทีตกแต่งด้วยไหมสีสดๆ หรือปีกแมลงทับลงบนผื่นผ้า ปักด้วยดิ้นทองเป็นลายก้านแย่ง ผ้ากรองทองมักใช้เป็นเสื้อครุยของพระมหากษัตริย์ สไบหรือผ้าทรงสะพักของเจ้านายผู้หญิงชั้นสูงในราชสำนัก

กรองสมรศ

                ผ้าถักด้วยไหมทอง ถักโปร่งๆ บางๆ คล้ายผ้ากรองทองแต่โปร่งและเบากว่า บางทีหมายถึงผ้าคาดเอวที่ทำด้วยผ้าตาดทองปักดิ้น ถ้าเป็นผ้าตาด เรียก ผ้าแฝง (ผ้าสมรศสะกดหลายอย่าง เช่น สมรด สมรส)

กรอบ

                ผ้าโบราณสำหรับพันรองหน้าผาก มักทอเป็นลายกระจัง

กล่อม

                ผ้าควบหรือผ้าหางกระรอกที่ทอควบด้ายฝ้ายกับไหม หรือควบไหมหลายสีเข้าด้วยกัน

กษายพัสตร์

                ผ้าย้อมน้ำฝาดหรือจีวร (ดูจีวร)

ก้อม(ไทโซ่ง)

                เสื้อผู้หญิงไทโซ่ง ย้อมด้วยครามเป็นสีน้ำเงินเข้ม เย็บด้วยมือ สวมได้ทั้งสองด้าน คอกลมผ่าด้านหน้า แขนกระบอก เข้ารูป ติดกระดุมเงินเป็นแถวประมาณ ๙-๑๑ เม็ด ถ้าฐานะดีจะติดสองแถว เป็นกระดุมเงินยอดแหลม ลายกลีบบัว ติดห่วงกระดุม เสื้อก้อมสวมคู่กับซิ่น เป็นชุดลำลองและสวมไปตามที่ต่างๆ

กะตอย

                ผ้าเตี่ยว ผ้าขี้ริ้ว หรือเศษผ้า

กะเตี่ยว(ถิ่น-อีสาน)

                ผ้าหางกระรอก ทอด้วยไหมหรือฝ้ายต่างสีควบกัน

กะเนียง(ถิ่น-อีสาน)

                ผ้าหากกระรอกบริเวณอีสานใ เช่น จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ เป็นผ้าลายเนื้อละเอียด นิยมใช้สีเขียว แดง เหลือง ม่วง และส้ม ผ้ากะเนียง บางถิ่นเรียก กะเนียว หมายถึงไหมสองสีควบกัน ทำให้เกิดสีเหลือบกันเหมือนสีหางกระรอก

กะเพียด(ถิ่น-เหนือ, อีสาน)

                ภาชนะสานด้วยไม้ๆผ่ รูปร่างกลมยาวคล้ายผลฟักผ่สาตามยาว ใช้สำหรับรองดีดนุ่นหรือฝ้ายให้เป็นปุยก่อนนำไปปั่นเป็นเส้น กะเพียดของภาคเหนือสานด้วยตอกเป็นรูปไข่ ก้นมน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากประมาณ ๑ ศอก ยาก ๒ ศอก ขณะดีดฝ้ายต้องวางตะแคงเพื่อให้ดีดได้สะดวก และให้เมล็ดฝ้ายหรือสิ่งสกปรกตกอยู่ในกะเพียด ทำให้เก็บทิ้งง่าย

กะเหรี่ยง

(ซิ่นกะเหรี่ยง)

(ย่ามกะเหรี่ยง)

                ผ้าของชาวกะเหรี่ยง ชนชาติเก่าแก่ที่อยู่ในตระกูลจีน-ทิเบต ตามสายของชลาติโลโลหรือหลอหลอ และอยู่ในสาขาของกลุ่มทิเบต-พม่า ในทางวิชชาการแบ่งกะเหรี่ยงออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ กะเหรี่ยงสะกอ หะเหรี่ยงโปว์ กะเหรี่ยงตองสุ หรือกะเหรี่ยงพะโค และกะเหรี่ยงบเว หรือกะเหรี่ยงคยา

                ชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาในไทยหลายครั้ง และกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณอำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี การแต่งกายมีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม โดยมีผ้าที่ใช้สีสันและรูปแบบเป็นเครื่องบอกเพศและสถานภาพ ดังนั้นผ้ากะเหรี่ยงจึงมีแบบแผนและรูปแบบเป็นของตนเอง

                ผ้ากะเหรี่ยงแบบดั้งเดิมพัฒนาจากการทอผ้าหน้าแคบที่ไม่ใช้กี่แต่ใช้ตัวผู้ทอเป็นจุดขึงเส้นด้าย เรียนกว่า การทอแบบห้างหลัง ยับพบการทอเช่นนี้ในบางกลุ่มอยู่ กระบวนการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงนั้นสำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก เริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้าย การย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติ ส่วนการทอนั้นมีทั้งที่ทอด้วยกี่และทอแบบห้างหลัง ผ้าที่ทอมีหลายประเภท เช่น ผ้าทอสำหรับทำย่าม มักเป็นผ้าสีพื้นขาว ลายดำเป็นเส้นขนานกันเป็นริ้ว และย่ามสำหรับใช้ในงานพิธีสำคัญจะทอให้มีหลายสี มีลวดลายงดงามด้วยการเพิ่มเส้นพุ่งที่มีสีพิเศษเข้าไปเพื่อให้เกิดลายสลับสี หรือบางทีใช้ไหมพรมสอดเข้าไปคล้ายกับการจก จึงทำให้ย่ามกะเหรี่ยงมีลวดลายและสีสันงดงาม แปลกตา  

กระสวย

                เครื่องบรรุหลอดด้ายสำหรับทอผ้า ทำด้วยไม้ รูปร่างคล้ายเรือ ยาวประมาณ ๑๐-๑๒ นิ้ว หัวและท้ายเรียว ตรงกลางป่อง มีร่องสำหรับใส่หลอดด้าย หากเป็นกระสวยของกี่ทอมือจะใช้มือพุ่งกระสวยสลับไปมาระหว่างเส้นยืนสลับกับการกระทบฟืมให้เนื้อผ้าแน่น หากเป็นกระสวยกี่กระตุกจะตัวเล็กและสั้นกว่าและพุ่งกลับไปมาด้วยแรงกระแทกของการกระตุก ในภาคเหนือ เรียก เฮือ

กรัก

                ผ้าที่ย้อมด้วยแก่นขนุน (กรัก แปลว่า แก่นขนุนหรือแก่นไม้) สีน้ำตาลอมเหลืองหม่นคล้ำ เรียก สีกรัก นิยมใช้ย้อมผ้าจีวรของพระสงฆ์ที่เป็นพระธุดงค์หรือพระป่า เพราะย้อมจากสีธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด กล่าวกันว่าพระมหากัสสปเถระ ถือธุดงค์สมัยพุทธกาลก็ใช้ผ้าสีกรัก สมัยโบราณมีโรงกรัก คือโรงที่ต้มกรักในวัด

กั้ง

(ผ้ากั้งไทแดง แขวงหัวพัน ประเทศลาว ใชักั้นประตู) 

               ผ้าที่ใช้แบ่งพื้นที่ส่วนตัว หรือบริเวณหน้าเรือนเมื่อมีแขกมาพักด้วย

กร่าย

                ผ้าคาดพุงชนิดหนึ่งที่ถักเป็นตาข่าย

กราสิก

                ผ้าชนิดหนึ่งทอด้วยฝ้ายแกมไหม

กันหมั่น

                ผ้าฝ้ายแบบผ้าปิเก ใช้กันมากในภาคใต้(ดู ปิเก)

กัมปาสิกะ(ถิ่น-อีสาน)

                ผ้าทอด้วยฝ้ายสี เนื้อบาง ใช้พาดบ่าอย่างสไบ

กาสาว์

                ผ้าย้อมฝาดหรือผ้าย้อมฝาดที่ภิกษุใช้ห่อม เรียกผ้ากาสาว์

ก่าน(ถิ่น-เหนือ, อีสาน)

(ซิ่นก่าน)

                ชื่อซิ่นของชาวไทลื้อเมืองน่าน ทอด้วยการมัดหมี่ ซึ่งภาษาถิ่นเรียก มัดก่าน จึงเรียก ซิ่นก่าน

การเตรียมเส้นไหมสำหรับทอผ้า (ดู ไหม)

การทำผ้าให้มีกลิ่นหอม (ดู อบร่ำ)

การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ (ดู ย้อมสีธรรมชาติ)

กำพั่น

                ไม้กลมๆ ในกี่ทอผ้าใช้สำหรับม้วนผ้าที่ทอแล้ว เรียก ไม้กำพั้น หรือ ไม้ก้ำพั้น

กำม้า

                ผ้าขาวม้าสมัยอยุธยา เรียก ผ้ากำม้า

กี่

                เครื่องทอเส้นด้ายหรือเส้นไหมให้เป็นผืนด้วยการสอดและขัดกันของเส้นด้ายแนวตั้งหรือเส้นยืน กับด้ายแนวนอนหรือเส้นพุ่งให้สลับกันไปเช่นเดียวกับการสานเสื่อด้วยลายชัดธรรมดา เริ่มจากใช้แผ่นหลังของผู้ทอดึงด้ายเส้นยืน โดยผู้ทอนั่งเหยียดเท้าไปข้าหน้า ใช้ปลายข้างหนึ่งของด้ายเส้นยืนพันรอลเอว ปลายอีกข้างหนึ่งผูกกับไม้ขวางตามความกว้างของหน้าผ้า แล้วโยงยึดกับเสาเรือนหรือต้นไม้  ผู้ทอจะต้องก้มและยืดตัวขึ้นสลับกับการสอดด้ายเส้นพุ่งเข้าไประหว่างเส้นยืนด้วยไม้  สลับกับการกระทบด้ายเส้นพุ่งให้เรียงกันแน่นด้วยแผ่นไม้บางๆ  การทอประเภทนี้ยังไม่ใช้ฟืมผ้าจึงไม่เรียบและแน่น  มักใช้ในการทอผ้าหน้าแคบ การทอในลักษณะนี้ในปัจจุบันยังมีการทอกันบ้างในกลุ่มชาวไทยภูเขาและชาวไทยเชื้อสายกระเหรี่ยงในภาคเหนือ

กี่กระตุก

                เครื่องทอผ้าที่พัฒนามาจากกี่พื้นบ้าน โดยการพุ่งด้ายเส้นพุ่งหรือเส้นนอนด้วยการกระตุกสายบังคับให้เกิดแรงกระแทกส่งกระสวยให้วิ่งไปแล้วกลับมา  สลับกับการกระทบฟืม  ทำให้ทอผ้าได้รวดเร็วกว่าการทอด้วยกี่ธรรมดามาก การเรียกกี่กระตุก (percussion loom) เป็นการเรียกตามลักษณะการพุ่งกระสวยที่วิ่งสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว ถึงกระนั้นก็ตาม มนุษย์ยังต้องการทอผ้าโดยไม่ต้องใช้คน  โดยชาวตะวันตกสามารถนำเครื่องจักรมาใช้ในการทอผ้าแทนแรงงานคนเป็นผลสำเร็จในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปในคริสต์สตวรรษที่ ๑๙ ทำให้หัตกรรมการทอผ้าด้วยมือและแรงงานมนุษย์เปลี่ยนมาเป็นการทอด้วยเครื่องจักร

กุ๊น

                ผ้าเย็บหุ้มริมผ้าให้เรียบร้อยและป้องกันริมผ้าลุ่ย

เก

                กี่ทอผ้าพื้นเมืองนครศรีธรรมราช มี  ๒ ชนิด คือ เกยกและเกฝัง เกยกเป็นกี่ทอผ้าที่เคลื่อนที่ได้  ตั้งอยู่บนพื้น โครงสร้างและส่วนประกอบต่างทำด้วยไม้ คล้ายกี่ทอผ้าพื้นบ้านทั่วไป แต่มักใช้ไม้เนื้อแข็งเพื่อความแข็งแรงและทนทานเกยกและเกฝังมีขนาดใกล้เคียงกัน  แต่กี่ยกมักสูงกว่าให้เท้าถีบกระตุกด้ายขณะทอผ้าได้สะดวกไม่ติดพื้น  เกยกสามารถเคลื่อนย้ายไปทอตามที่ต่างๆ ได้ เช่น บนเรือน ส่วนเกฝังเคลื่อนย้ายไม่ได้เพราะใช้เสาฝังติดดิน จึงสร้างไว้ตามใต้ถุนเรือน

เก็ง

                ผ้าผืนเล็ก ๆ เย็บแซกตรงรักแร้เสื้อหรือที่บั้นเอว เพื่อขยายให้เสื้อหลวมสวมสบาย

เก็บ

                การเก็บเครือหรือด้ายเส้นยืนให้เกิดรวดรายหรือดอกเวลาทอผ้า เช่น เก็บขิด  เก็บหมี่

เก็บขิด

(ซิ่นคำเคิบ โดยการเก็บขิด)

                กรรมวิธีการทอผ้าให้เป็นลาย  โดยใช้ไม้แผ่นแบนๆ บาง ๆ ปาดปลาบยด้านหนึ่งให้โคล้งแหลมคล้ายดาบ  ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับสะกิดเส้นเครือหรือเส้นยืนเพื่อเก็บยกขึ้นตามรูปลักษณะรลวดลายที่ต้องการในแต่ละแถวแต่ละลาย  เมื่อเก็บยกได้ตลอดเส้นเครือแล้วก็จะยกไม้เก็บตั้งขึ้นเพื่อพุ่งกระสวยเส้นพุ่งเส้นหนึ่งทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ  จนกว่าจะได้ลายแต่ละแถวจนหมดเส้นเครือ  ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนมากเช่นเดียวกันดับการทอผ้ามัดหมี่  เพียงแต่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่า เพราะการทอผ้าขิดจะใช้เขา (ตะกอ) ตั้งแต่ สี่ หก สิบ แต่ต้องเป้นจำนวนคู่

เก็บดอก

                ผ้าทอพื้นบ้านโบราณเมืองนครศรีธรรมราช ทอยกเป็นดอก บางทีเรียก ตีนัด

เก็บตะกอ

(ตะกอ)

                การเตรียมด้ายเส้นยืนให้ยกขึ้นหรือกดลงอย่างเป็นระบบเพื่อให้สอดด้ายเส้นพุ่งเข้าไปได้  การเก็บตะกอทำได้ ๒ วิธี คือ วิธีสืบเส้นยืน คือต่อด้ายเส้นยืนเดิมที่เก็บตะกอ(เก็บเขา) ไว้แล้วเข้ากับด้ายเส้นยืนใหม่ก็สามารถทอได้เลย

                อีกวิธีหนึ่งในกรณีที่ต้องร้อยฟันหวีใหม่  ต้องร้อยฟันหมีช่องละสองเส้น  ต้องเก็บตะกอ (เก็บเขา) ขึ้นใหม่หากเป้นลายขัดธรรมดา  ทั้งด้านล่างและด้านบนมี ๘ ตับ(อัน)

เก็บนัด

                ผ้าทอยกเมืองนครศรีธรรมราชสมัยโบราณที่ทอเป็นลายดอกพิกุล ลายก้านแย่ง ลายดอกมะลิ เป็นต้น

เก็บฝ้าย

          การเก็บสมอฝ้ายเพื่อนำปุยฝ้ายมาทอผ้า  มักกระทำในฤดูหนาว ชาวนาชาวไร่จะปลูกฝ้ายตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม  ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม  เป็นช่วงที่ฝ้ายได้รับน้ำฝน ฝ้ายจะแก่และเริ่มแตกปุ่ยราวเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม  การเก็บฝ้ายจึงเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงมกราคม  การเก็บต้องเลือกเก็บแต่ปุยที่สะอาดเท่าน้น  ระวังไม่ให้มีเศษใบไม้แห้งติดมาด้วย  การเก็บต้องดึงเฉพาะปุยฝ้ายออกมาจากกลีบสมอ  ใส่ถุงผ้าหรือกระสอบ  หากมีปุยฝ้ายที่แตกไม่เต็มที่หรือสกปรกต้องแยกออกต่างหาก  ไม่เก็บฝ้ายที่มีน้ำค้างเพราะจะทำให้เกิดรา  หากจำเป็นต้องเก็บฝ้ายที่ยังเปียกต้องผึ่งแดดให้แห้ง

เก็บมุก

                การทอผ้าลายวิธีหนึ่งในจังหวัดน่าน  ลักษณะการทอคล้ายการทอขิดของถาคอีสานไม่ล้วงด้วยไม้เก็บขิด  แต่ใช้ไม้ไผ่เหลาให้กลม ตรงปลายมน เมื่อเก็บลายเสร็จแล้วจะสอยด้ายเส้นยืนด้วยไม้ ลายเก็บมุกมีหลายชนิดและเรียกต่าง ๆ กัน

เกาไศย

                ผ้าไหม ผ้าแกมไหม สมัยโบราณบางทีเรียกผ้าโกสิย  ผ้าโกเสยยะ ผ้าโกสัย

เกาะ(ถิ่น-เหนือ)

(ซิ่นล้วง)

                กรรมวิธีทอผ้าให้เกิดลวดลายโดยใช้ด้ายเส้นพุ่งหลายสีพุ่งแทรกเส้นยืน  ซึ่งนิยมใช้สีดำตามแบบล่ายที่สร้างไว้(ล้วง) แล้วสอดเส้นพุ่งย้อนกลับมาที่เดิม โดยให้เกี่ยวหรือคล้องกับด้ายเส้นยืนเส้นหนึ่ง(เกาะ) ที่ขอบตัวลาย การเกาะหรือผูกเป็นห่วงรอบด้ายเส้นยืนเพื่อยึดด้ายเส้นพุ่งแต่ละช่วงเอาไว้ช่วยให้ผ้ามีเนื้อแน่นและทำให้เกิดลวดลายสลับกันไปมาคล้ายคลื่นหรือฟันปลา จึงเรียกผ้าชนิดนี้ว่า ผ้าลายน้ำไหล ชาวไทลื้อที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เรียกกรรมวิธีนี้ว่า เกาะ แต่ช่างทอพื้นบ้านเมืองน่านเรียกว่า ล้วง

เกาะยอ(ถิ่น-ใต้)

(ผ้าเกาะยอ)

                ผ้าทอที่ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เกาะยอตั้งอยู่ในทะเลสาบสงขลา สภาพเป็นที่ราบสูงและต่ำ อยู่ห่างจากเมืองสงขลาประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นแหล่งทอผ้าพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ กล่าวกันว่า ชาวเกาะยออพยพมาจากบ้าท่านางหอม อำเภอหาดใหญ่และจากตำบลทุ่งหวัง จังหวัดสงขลา ชาวเกาะยอทั้งสองกลุ่มประกอบอาชีพทำสวน ปั้นหม้อ และทอผ้ามาช้านาน บริเวณจังหวัดสงขลาเคยเป็นแหล่งที่มีการทอผ้ามาแต่โบราณตั้งแต่ต้นสมัยกรุงธนบุรี เพราะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเคยให้กรมการเมืองไปกวาดต้อนเอาช่างทอผ้าจากเมืองสงขลามาไว้ที่นครศรีธรรมราช แสดงว่าเมืองสงขลาต้องเป็นดินแดนที่มีการทอผ้าพื้นเมืองมาแต่โบราณ แต่การทอผ้าพื้นเมืองของสงขลาอาจเลิกราไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่ไม่อำนวย

                ประมาณพ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีการฟื้นฟูการทอผ้า วิธีทอและการทอลายผ้าเกาะยอ ปัจจุบันการทอส่วนใหญ่ใช้กี่กระตุก ส่วนมากเป็นผ้ายกดอกชนิดสองตะกอ สี่ตะกอ หกตะกอ แปดตะกอ และสิบตะกอ จึงเป็นผ้าเนื้อหนา ทอด้วยด้ายฝ้าย เส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสังเคราะห์ผสมไหมเพื่อใช้เป็นผ้าซิ่น ผ้าสำหรับตัดเสื้อผ้า ผ้าฝ้ายเนื้อบางใช้เป็นโสร่งและผ้าขาวม้า ลวดลายที่ยังนิยมทอกันอยู่ในปัจุบันมีหลายลาย ปัจจุบันการทอผ้าที่เกาะยอเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้ประชาชนหลายล้านบาทต่อปี เมื่อมีสะพานเชื่อมจากสงขลาไปสู่เกาะยอทำให้การคมนาคมไปสู่เกาะยอสะดวกขึ้น

แก้ว

                ผ้าบางใส แข็งเหมือนลงแป้ง คล้ายผ้าสาลู

โกษม

                ผ้าใยไม้หรือผ้าลินิน ผ้าขาว ผ้าป่าน

อักษร ข

ขยิบ(ถิ่น-ใต้)

                ผ้าที่ใช้เย็บหุ้มริมผ้าเพื่อความสวยงามและทน ไม่ลุ่ย

ขยิบต่ำ(ถิ่น-ใต้)

                ผ้าเย็บริมแคบๆ กันไม่ให้ริมผ้าลุ่ยหรือขาด

ขลิบ

                การตัดหรือเล็มผ้าเพื่อให้ได้รูปและขนาดที่ต้องการ

ขวิด(ถิ่น-อีสาน)

                ผ้าทอลายขิดเรียก ผ้าขวิด หรือ ผ้าขิด มีลายหลายชนิด เช่น บายขิดกาบ ขิดขอ ขิดช้าง       ขิด ดอกแก้ว ขิดดอกผักแว่น ขิดม้า ขิดหมากหมอน

ขาว

                ผ้าที่ทอด้วยฝ้ายหรือไหมธรรมชาติที่ฟอกให้เป็นสีขาว สมัยโบราณทำได้ยากเพราะไม่มีสารเคมีสำหรับฟอกขาว แต่ใช้สารธรรมชาติฟอก เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้ว ผ้ามักเปลี่ยนเป็นสีเดิมของฝ้ายหรือไหม

ขาวบาง

                ผ้าขาวเนื้อบางละเอียด ใช้กรองสิ่งต่างๆ

ขาวม้า

                ผ้าฝ้ายหรือไหม กว้างประมาณ ๗๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๙๐ เซนติเมตร มีสีและลวดลายต่างๆ กัน เช่นเป็นสีแดงทั้งผืน หรือทอเป็นลายตาสี่เหลี่ยมมีเชิงทั้งสองข้าง ด้ายที่ให้ทอนิยมใช้ด้าย ๒ สี คือ ขาวกับเขียว เขียวกับดำ แดงกับขาว แดงกับดำ เป็นต้น

ขิด

                ผ้าที่สร้างลวดลายด้ายการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเพื่อสร้างลวดลายข้ามช่วงด้านเส้นยืนคล้ายกับทอจก ไม่ใช้วัตถุปลายแหลมหรือขนเม่นจก แต่ใช้ไม้ค้ำหรือเขา ทำด้วยไม้ไผ่เหลาให้เล็กยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตรโยงเข้ากับด้านเส้นยืน เมื่อต้องการทอลายใดก็ดึงเขาชุดนั้นมาใช้ ลายที่ไม่ต้องการก็จะดึงเขาเก็บขึ้นไป เขาลายใดที่ไม่ใช้ก็แขวนไว้เหนือกี่ ดั้งนั้นเขา ๑ อันจึงกำหนดลายได้ ๑ แถวเส้นพุ่ง เมื่อทอมาถึงเขาจะต้องใช้ไม้ดาบ ไม้แบนๆ ยาวสอดผ่านเส้นยืนไปตามที่เขากำหนดไว้แล้วพลิกดาบให้สันตั้งขึ้นพอที่จะสอดกระสวยเข้าไปได้ เมื่อกระสวยผ่านหน้าผ้าไปแล้วดึงไม้ดาบออก การทอขิดของกลุ่มชนไท-ลาว มีสองวิธีคือ ใช้เขาหลายอันผูกกับแกนไม้โยงฟืม เมื่อต้องการลายจากเขาก็เอาเชือกที่เขาลายนั้นไปคล้องตะกอ วิธีเช่นนี้ชาวไทลื้อ จังหวัดเชียงรายนิยมทอ อีกวิธีหนึ่งเรียก เขาเก็บขิด ใช้ไม้ดาบสอดที่เส้นยืนคล้ายกับวิธีแรก แต่เก็บเขาที่ไม่ใช้ไว้ใต้เส้นยืนเรียงกันทีละอัน เมื่อหมดชุดแล้วหากต้องการย้อนลายใหม่ก็ดึงเขาขึ้นมาใช้อีก ทำให้เกิดลวดลายซ้ำเป็นเงาสลับกัน การทอวิธีนี้ต้องมีผู้ช่วยคอยดึงไม้ สอดด้าย และเก็บเขา กลุ่มชาวไท-ลาวในบริเวณภาคอีสาน นิยมทอขิดวิธีนี้

               -ขิดตีนซิ่น

                ผ้าขิดที่ต่อเชิงหรือส่วนล่างของซิ่น ส่วนมากทอด้วยฝ้ายย้อมสีเพื่อให้เกิดลวดลายชัดเจน ขิดตีนซิ่นนอกจากใช้เป็นส่วนต่อและตกแต่งซิ่นแล้ว ยังช่วยถ่วงตัวซิ่นให้แนบลำตัว มักทอเป็นแถบเล็กๆ กว้างเพียง ๒-๓ นิ้วเท่านั้น

               -ขิดหมอน

                ผ้าขิดที่ทอด้วยฝ้ายสำหรับใช้ทำหมอน ชนาดความดว้างของลายใหญ่กว่าขิดหัวซิ่น แต่ก่อนนิยมใช้พื้นสีขาว เหลือง เก็บลายสีดำหรือสีคราม วางลายขิดพาดกลางตัวหมอนแล้วต่อข้างทั้งสองออกไปด้วยสีขาว แดง คราม หรือดำเหมือนกันทั้งสองข้าง

                -ขิดหัวซิ่น

                ผ้าขิดที่ใช้ต่อชายบนของตัวซิ่น นิยมทอด้วยผ้าไหมมากกว่าฝ้าย เพราะเมื่อนุ่งซิ่นต้องป้ายพับและเหน็บที่เอว หากเป็นไหมจะนุ่มไม่เจ็บเอว และแน่นกว่าการใช้ผ้าฝ้ายที่มีเนื้อหยาบ ขิดหัวซิ่นนิยมทอด้วยไหมเป็นพื้นสีแดงและสีขาว ถ้าจะทอเป็นลวดลายก็มักนิยมใช้กันแต่สีแดง ขาว และเหลืองมากที่สุด

ขี้ครั่ง (ดู ครั่ง)

ขี้งา

                ผ้าที่มีสีขาวและสีดำปนกัน

เข็ด

                ลักษณะนามเรียกด้ายหรือไหมหลายๆ ไจรวมกัน

เข็นฝ้าย

                การปั่นฝ้ายด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า ไน หรือหลา ที่ทำด้วยไม้เป็นกงล้อหมุนด้วยมือ มีเชือกคล้ายสายพานโยงไปยังเหล็กใน การเข็นฝ้ายต้องใช้มือหนึ่งหมุนไน อีกมือผ่อนฝ้ายให้พันเหล็กไนที่หมุนปั่นให้เป็นเกลียวเส้นเล็กๆ ต้องใช้ความชำนาญในการผ่อนปุยฝ้ายจากติ้วหรือลูกหนูให้สม่ำเสมอและได้จังหวะพอดีกับการหมุนเหล็กใน จึงจะได้เส้นด้ายที่มีขนาดเสมอกัน เมื่อปั่นฝ้ายเข้าแกนเหล็กในได้ขนาดแล้ว ใช้ไม้เปีด้ายม้วนด้ายจากปลายแกนเหล็กในพันเข้ากับไม้เปียด้ายให้ได้ขนาดพอสมควร เสร็จแล้วดึงด้ายออกเป็นไจหรือปอยเพื่อเก็บด้ายไม่ให้พันกัน เมื่อต้องการนำไปใช้ประโยชน์หากเป็นด้านเส้นยืนที่ไม่ต้องย้อมสีก็นำไปลงแป้งข้าวเจ้าหรือลงน้ำข้าวเพื่อให้ด้ายเหนียวและไม่มีขน แล้วนำไปใส่ราวกระตุกเส้นด้ายให้เรียงเส้น ตากให้แห้ง หากต้องการย้อมสีต้องนำไปต้มฟอกเพื่อขจัดไขมันเสียก่อน จึงย้อมสีต่างๆ ต่อไป

เข็มเย็บผ้า

                เหล็กแหลมเรียวยาว ส่วนโคนมีรูสำหรับร้อยด้าย มีหลายขนาด เช่น ขนาดใหญ่สำหรับเย็บกระสอบป่าน

เข้มขาบ

(ผ้าเข้มขาบ ประเทศอินเดีย)

                ผ้าทอไหมสลับเส้นทองและเงินเป็นริ้วๆ ระหว่างริ้วทอยกเป็นลวดลายต่างๆ ด้วยทองแล่งเงินแล่ง ใช้ตัดเครื่องแต่งกาย ในประเทศอินเดียเรียกผ้าชนิดนี้ว่า ผ้าเยียรบับ

เขา (ดู ตะกอ)

เข้าถ้ำ

                ตะเข็บเย็บผ้าวิธีหนึ่ง เย็บซ่อนตะเข็บไว้ข้างใน

เขียนทอง

                ผ้าลายอย่างหรือผ้าพิมพ์ที่เขียนลายปิดทองเพิ่มเข้าไป มักใช้เป็นพระภูษาทรงและใช้เป็นผ้านุ่งสำหรับเจ้านายชั้นสูงในราชสำนัก

เขียนลาย

                ผ้าพื้นที่ทำลวดลายด้วยการเขียน เช่น เขียนด้วยขี้ผึ้งแล้วนำไปย้อมสี เรียกว่า ผ้าบาติก หรือผ้าปาเต๊ะ หรือเขียนด้วยยางมะเดื่อ แล้วปิดทองอย่างผ้าเขียนทอง

เขียวคราม

                ผ้าย้อมด้วยครามหรือย้อมด้วยแกแลหรือกะแล ไม้เถาชนาดเขื่อง แก่นเป็นสีเหลือง ใช้ย้อมผ้าและทำยา ผ้าชนิดนี้ย้อมครามสีอ่อนจนออกเขียว

แขนพอง

                รูปแบบของเสื้อสตรีในรัชกาลที่ ๕ ได้รับแบบอย่างมาจากตะวันตก ที่นิยมกันมากคือ เสื้อแขนพอง หรือที่เรียกกันว่า แขนหมูแฮม

โขมพัสตร์

                ผ้าทอจากป่าน เปลือกไม้ ฝ้าย เป็นผ้าโบราณของอียิปต์ ส่วนผ้าที่ทอในประเทศไทยเป็นผ้าพิมพ์ลาย ใช้เป็นผ้านุ่งห่มและผ้าประดับบ้าน เคยมีแหล่งผลิตที่อำเภอหัวหิน

อักษร ค 

ค้นหูก

                การจัดเส้นด้ายหรือเส้นไหมเพื่อใช้เป็นเส้นยืนหรือเส้นเครือ โดยใช้เครื่องมือค้นหูกที่ทำด้วยไม้ จัดให้เส้นยืนมีจำนวนเหมาะกับช่องฟันฟืม แล้วนำไปเข้าหูกหรือกี่

ครั่ง

                แมลงชนิดหนึ่งมักทำรังโอกิ่งไม้ขนาดเล็กๆ ครั่งจะปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมาทำรังและเป็นที่ผสมพันธุ์ เมื่อนำรังครั่งหรือขี้ครั่งมาต้มจะเป็นน้ำสีแดง ใช้ย้อมฝ้าย ย้อมไหม หรือย้อมผ้า ขี้ครั่งใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ใช้เข้าด้ามมีด ผนึกสิ่งของแล้วตีตราเรียก ตีครั่ง

คราม

(ผ้าทอย้อมคราม)

                เป็นไม้พุ่มชนิดหนึ่ง เดิมเป็นสีย้อมที่มาจากอินเดีย ในไทยมีสองชนิดคือ ครามบ้าน และครามป่า การปลูกครามเพื่อนำม้าอมผ้าต้องหว่านเมล็ดครามทิ้งไว้ก่อนหน้าฝน จากนั้นประมาณ ๓-๔ เดือน ต้นครามจะโตพอที่เก็บเกี่ยวต้น กิ่ง และใบมาหมักกับน้ำซาวข้าวทิ้งไว้ ๑ คืน จะได้น้ำสีเขียวอ่อน แยกเอากากออกปสมกับปูนกินหมาก ใช้ไม้ตีให้ขึ้นฟอง ทิ้งให้ตกตะกอนคล้ายเลนจนได้เนื้อครามสีน้ำเงินเข้ม เก็บไว้ใช้ย้อมผ้า ย้อมฝ้าย การย้อมต้องผสมน้ำด่างขี้เถ้าให้บูดเน่า แล้วใส่มะกรูด เหล้าโรง ผสมปูนกินหมาก แล้วนำผ้าแช่ไว้อย่างน้อยหนึ่งวัน ย้อมครั้งแรกเป็นสีฟ้าต้องย้อมซ้ำๆประมาณสิบครั้งจึงจะมีสีน้ำเงินเข้ม

ควบ

                ผ้าที่ใช้ด้ายต้งแต่สองเส้นกรอเข้ากันแล้วทอเป็นผ้า ภาคอีสานเรียก ผ้าควบผ้าคุบ ใช้เฉพาะคนมั่งมีหรือเจ้านายเท่านั้น

คาด

                ผ้าสำหรับคาดเอว เช่น ผ้าขาวม้า ผ้ารัดประคด

คาดก่าน(ถิ่น-เหนือ)

                ผ้าชนิดหนึ่งของชาวไทลื้อในจังหวัดน่าน ที่ใช้วิธีมัดหมี่ทอร่วมกับการทอขิด เรียกรวมกันว่า คาดก่าน หรือ มัดก่าน การทอลักษณะนี้มีสองแบบคือ ชนิดที่ย้อมลวดลายที่เส้นพุ่ง ซึ่งทำกันแพร่หลายในกลุ่มชนไท-ลาวบริเวณแม่น้ำโขง ชาวไทยวนในล้านนา และมักมัดเส้นยืน อันเป็นกรรมวิธีดั้งเดิมของกลุ่มไทลัวะในล้านนา

คาดเตี่ยว

                ผ้าหน้าแคบแต่ยาว ใช้พันรอบเอวแล้วม้วนชายที่เหลือลอดใต้หว่างขาโจงขึ้นไปเหน็บไว้กับผ้าคาดหลัง

คำแสด

                ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ออกผลเป็นพวง ผลกลมรีคล้ายผลระกำ เปลือกสีแดง มีขนคล้ายผลเงาะ เมล็ดสีแดง ชาวบ้านนำมาใช้เป็นสีย้อมฝ้ายหรือไหมสำหรับทอผ้า

เคียน

                ผ้าสำหรับพันรอบเอวหรือพันรอบศรีษะ หากพันรอบเอวเรียก ผ้าเคียนพุง หากใช้โพกหัวเรียกว่า ผ้าเคียนหัว

เครื่องถักทอ

                เครื่องใช้หรืออาภรณ์ที่ทำขึ้นโดยเส้นใยชนิดต่างๆ เช่น ด้าย ไหม ฝ้าย ป่าน ปอ และเส้นใยสังเคราะห์มาถักหรือทอด้วยมือ เครื่องมือ หรือเครื่องจักร โดยไขว้กันหรือสอดขัดกัน ฟั่นเป็นเส้น เป็นเกลียว ถักเป็นตาข่าย พรม ฟั่นเป็นเชือกหรือเป็นผืน

เครื่องปั่นด้าย

                เครื่องมือสำหรับฟั่นหรือตีเกลียวเส้นด้ายให้มีขนาดและความยาวตามต้องการ การปั่นด้ายให้เป็นเส้นด้วยเครื่องมือชนิดหนึ่งเรียกว่า ไน คือการทำให้กงล้อหมุนอยู่กับที่โดยมีแกนหรือเพลาอยู่ตรงกลาง ใช้มือหมุนให้กงล้อหมุนรอบตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีเชือกเป็นสายพานโยงไปยังเหล็กในที่หมุนปั่นปุยฝ้ายให้เป็นเกลียวและกรอเข้าหลอดด้ายได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะปั่นด้ายให้เป็นเส้นจะต้องนำปุยฝ้ายมาปั่นให้เป็นเกลียวด้วยเหล็กไน แล้วเก็บด้ายไว้ที่เหล็กใน จากนั้นสาวด้ายจากเหล็กในไปยังระวิงหรือหลาเพื่อเก็บเป็นไจ จากนั้นนำไปต้ม ฟอก และย้อมตามกรรมวิธีของแต่ละถิ่น

อักษร ฆ

ฆ่าฝ้าย (ถิ่น-อีสาน)             

                การนำฝ้ายที่สาวเป็นเส้นแล้วแช่ไว้ในน้ำข้าวเหนียว(ที่ยังไม่นึ่ง) เพื่อให้เส้นฝ้ายนุ่มก่อนนำไปย้อม จะช่วยให้สีติดดี

อักษร ง

งัดขิด

                การใช้ไม้งัดช้อนด้ายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดด้านเส้นพุ่งตามแนวที่งัดไว้ จำนวนด้ายเส้นยืนและเส้นพุ่งจึงยกและข่มในจำนวนไม่เท่ากันและไม่เป็นระเบียบ ทำให้เกิดลวดลายขิดบนหน้าผ้า

อักษร จ

จก

                การทอผ้าให้เกิดลวดลายด้วยการจกหรืองัดด้ายเส้นยืนขึ้นด้วยขนเม่น แล้วเพิ่มด้ายเส้นพุ่งที่มีสีสันและลักษณะพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ทำให้เกิดสลับสีเป็นช่วงๆ ตลอดหน้าผ้า เรียกการทอแบบนี้ว่า การปักบนหูก การทอจกในบางท้องถิ่นใช้วิธีกลับด้านหลังผ้าขึ้นข้างบนขณะทอเพื่อให้ทำลวดลายละเอียดได้ดี เส้นพุ่งพิเศษที่ใช้ทอจกนิยมใช้เส้นไหมบนพื้นผ้าฝ้ายหรือไหม หรือใช้ดิ้นเงินดิ้นทอง อาจได้รับแบบอย่างมาจากอินเดียและเปอร์เซีย ส่วนมากนิยมใช้เป็นผ้าของชนชั้นสูง สามัญชนใช้ไหมสีเหลืองแทนดิ้นทอง

จ้อ(ถิ่น-อีสาน)

                ภาชนะสานด้วยไม้ไผ่สำหรับเลี้ยงไหม รูปร่างคล้ายกระด้งมอญ หรือกระด้งขนาดใหญ่ สานเป็นตาห่างๆ ข้างในใช้ไม้ไผ่สานขัดเป็นวงซ้อนกันจนเต็มเพื่อให้ตัวไหมใช้เป็นที่ชักใย

จ่อง(ถิ่น-อีสาน)

                ผ้าห่มที่ทอจากด้ายเส้นยืนเป็นไหม เส้นพุ่งเป็นฝ้ายทอด้วยลายมุก นิยมเพราะต่อกัน ๒ ผืน เพื่อให้มีความหนาและความกว้างพอเหมาะสำหรับใช้เป็นผ้าห่ม บางถิ่นทอด้วยวิธียกดอก ผ้าห่มชนิดนี้ชาวอีสานเรียก ผ้าจ่อง

จิตรลดา

                ผ้าฝ้ายทอมือในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ

จีบ

                ผ้าที่พับอัดให้เป็นกลีบเล็กใหญ่ตามลักษณะการใช้ผ้าแต่ละชนิด

เจาะป่อง

                ผ้าที่ทอโดยกำหนดลวดลายด้วยการเว้นช่องว่างไม่ใส่เส้นพุ่งด้วยการเก็บเส้นด้ายทุกครั้ง แล้วทอโดยการบิดดายเส้นยืนด้วยมือ ผ้าที่ทอจะเป็นรูหรือป่อง ขนาดของป่องจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นกับจำนวนด้ายเส้นยืนที่เก็บ โดยทั่วไปการทอผ้าลักษณะนี้จะทอด้วยฝ้าย

โจงกระเบน

                วิธีนุ่งผ้าแบบหนึ่งของคนไทยใน ๓ แบบ คือ โจงกระเบน ใช้ผ้ายาวเท่าผ้าถุงสองผืน ม้วนชายข้างหน้าเข้าหาตัวแล้วตลบลอดหว่างขาไปเหน็บไว้ข้างหลัง นุ่งจีบ คือ จีบผ้าด้านหน้าทบหลายๆ ชั้นเข้าหาตัว นุ่งลอยชาย เป็นการนุ่งตามสบายของผู้ชาย ไม่ม้วนผ้าด้านหน้าขึ้นมาเหน็บหางอย่างโจงกระเบน การนุ่งผ้าของสามัญชนและชนชั้นสูงไม่ต่างกันนัก แต่ต่างกันที่เนื้อผ้าและมูลค่าของผ้า

                ด้ายหรือไหมที่แยกจากเข็ดแล้วมัดผูกไว้เพื่อไม่ให้ยุ่ง นำไปย้อมได้สะดวก ลักษณะนามเรียก้ายหรือไหมที่แยกออกจากเข็ดแล้ว เช่น ด้าย ๑ ไจ ด้าย ๒ ไจ เป็นต้น

อักษร ฉ

ฉีก

                ผ้าฝ้ายพิมพ์เป็นดอกหลายสี เนื้อเป็นมัน กล่าวกันว่าผ้าชนิดนี้เป็นผ้าพิมพ์ที่ผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

อักษร ช

ชมภู

                ผ้าดอกชนิดหนึ่งสมัยสุโขทัย

ช่างทอ

                ผู้ที่มีความสามารถในการทอผ้าประเภทต่างๆ บางคนอาจจะทำด้วยตนเองตั้งแต่การอิ้วฝ้าย ปั่นฝ้าย ย้อม และทอ หรือสาวไหม ย้อมไหม มัดหมี่ เก็บขิด เก็บเขา จนถึงทอเป็นผ้าสำหรับใช้ในโอกาสต่างๆ ช่างทอส่วนมากเป็นช่างพื้นบ้านที่กระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ และได้รับความรู้สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ ไม่มีตำรา ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองจนเกิดความชำนาญ

เชิงจก

                ผ้าทอลายจกที่ใช้ต่อเชิงหรือตีนซิ่น

เชิงซิ่น

                ส่วนล่างของซิ่น มักทอเป็นลายหรือนำผ้าที่ทอเป็นลวดลายและมีสีสันงดงามมาต่อกับตีนหรือเชิงซิ่น เรียก ซิ่นตีนจก

3 ความเห็น (+add yours?)

  1. pp
    ก.พ. 06, 2011 @ 01:34:05

    ให้ความรู้ดีมากเลยคะ

    ตอบกลับ

  2. nim
    ส.ค. 30, 2014 @ 15:26:49

    ให้ความรู้ดีมากๆๆค่ะ

    ตอบกลับ

  3. Zatomi
    ม.ค. 04, 2015 @ 01:01:21

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ

    ตอบกลับ

ส่งความเห็นที่ pp ยกเลิกการตอบ