อักษร ซ – ด

อักษร ซ

ซอแกะ(ถิ่น-ใต้)

                ผ้าโสร่งที่สวมทับกางเกงของผู้เต้นรองเง็ง สั้นแค่หัวเข่าหรือเหนือเข่าเล็กน้อย ใช้ผ้าเนื้อดี ตาโตๆ หรือผ้าไหมยกดิ้นเงินดิ้นทอง

ซิ่น

                ผ้านุ่งผู้หญิงที่เย็บเป็นถุง มีทั้งชนิดที่ทอเป็นผ้าสีเดียวไม่มีลวดลาย และทอเป็นลวดลาย มักมีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชน เช่น ซิ่นของกลุ่มไทยวนนิยมทอตัวซิ่นเป็นริ้วขวางลำตัว และต่อตีนซิ่นด้วยลายจก แต่กลุ่มไท-ลาว นิยมทอตัวซิ่นต้วยลายริ้วขนานกับตัว

ซิ่นก่าน(ถิ่น-เหนือ)

                ซิ่นของชาวไทลื้อบริเวณจังหวัดน่าน ทอลายมัดหมี่ ชาวเมืองเรียก มัดก่าน หรือ คาดก่าน เป็นซิ่นลายขวางลำตัว

ซิ่นก่านคอควาย(ถิ่น-เหนือ)

                ซิ่นชาวไทยวนบริเวณจังหวัดแพร่ ตัวซิ่นมีสีดำ มีริ้วสีแดงตรงส่วนบนของตีนซิ่น ซิ่นก่านคอควายหรือซิ่นแหล้ หมายถึง สีดำหรือสีครามเข้ม

ซิ่นคำเคิบ(ถิ่น-เหนือ)

                ซิ่นทอด้วยดิ้นเงินดิ้นทองด้วยลายขิดเต็มผืน เย็บ ๒ ตะเข็บ ตีนซิ่นอาจเป็นผ้าพื้นธรรมดา นิยมทอในกลุ่มไทลือ

ซิ่นเชียงแสน(ถิ่น-เหนือ)

                ซิ่นสีแดงมีริ้วสีดำ หรือสีครามเป็นลายขวาง ทอด้วยลายขิด เย็บ ๒ ตะเข็บ นิยมทอบริเวณจังหวัดน่าน

ซิ่นตา(ถิ่น-เหนือ)

(ซิ่นตา ของลาวครั่ง)

                ซิ่นไทลื้อแบบดั้งเดิมในสิบสองปันนา ทอลายขวาง เย็บ ๒ ตะเข็บ ต่อหัวซิ่นและเชิงซิ่นด้วยผ้าสีคราม

ซิ่นตามะนาว (ดู ซิ่นไทยวน)

ซิ่นตีนจก (ดู ตีนจก)

(ผ้าตีนจก ลายเชียงแสน จ.เชียงใหม่)

ซิ่นไทโซ่ง

(ซิ่นลายชะโด หรือ ลายแตงโม)

                ซิ่นของชาวไทโซ่ง หรือไททรงดำ หรือลาวโซ่ง นิยมแต่งกายด้วยผ้าสีครามเข้มเกือบดำ ซิ่นนิยมใช้ซิ่นสีน้ำเงินเข้ม ประกอบด้วยหัวซิ่น หรือเชิงบนเป็นผ้าทอสีดำล้วน ตัวซิ่นทอเป็นริ้วขาวอมฟ้าขนานลำตัว เรียกว่า ลายชะโด หรือ ลายแตงโม เชิงซิ่นหรือตีนซิ่นทอด้วยฝ้ายสีดำให้เนื้อแน่นเพื่อความคงทน การนุ่งซิ่นจะกางซิ่นออกแล้วพับทบไปหาเอว คาดทับด้วยเข็มขัดเงิน ส่วนเสื้อที่ใช้สวมในงานพิธีต่างๆ มักสวม เสื้อก้อมหรือเสื้อฮี

ซิ่นไทพวน

(ซิ่นมุกต่อตีนจกของไทพวน สุโขทัย)

                กลุ่มไทพวนที่ยังสืบทอดการทอผ้ามาจนปัจจุบันคือ กลุ่มทอผ้าบริเวณตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เอกลักษณ์ที่โดดเด่นชนิดหนึ่งของกลุ่มนี้ คือ ผ้าซิ่นตีนจกและซิ่นธรรมดา เชิงเป็นแถบสีดำหรือสีแดงอมส้ม มักทอด้วยฝ้ายหรือฝ้ายสลับไหมเป็นลายขวางลำตัว มีเชิงเป็นลวดลายซึ่งทอด้วยวิธีจก

ซิ่นไทยวน

(ซิ่นต่อตีนจก ไทยวน)

                ซิ่นกลุ่มไทยวนล้านนาและกลุ่มไทยวนภาคกลางมีรูปแบบคล้ายกัน คือ ซิ่นที่ใช้ประจำวันเป็นซิ่นต๋าหรือซิ่นที่มีลายขวาง สีอ่อน หรือหัวซิ่นเป็นผ้าพื้นสีขาว ตีนซิ่นเป็นผ้าฝ้ายสีแดงหรือดำ การนุ่งจะเหมือนกันคือ นุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า ซิ่นไทยวนมเอกลักษณ์คือ ตัวซิ่นเป็นลายทางขวางลำตัว ขนาดของลายจะเท่าๆ กันตลอด หัวซิ่นมักต่อด้วยผ้าพื้นสีแดง ขาว หรือดำ แต่ถ้าใช้นุ่งในโอกาสพิเศษจะต่อตีนด้วยตีนจกหรือผ้าลายจก โดยมีลวดลายอยู่ตรงส่วนบนของตีนหรือเชิง ส่วนล่างสุดเป็นสีแดง

ซิ่นไทลื้อ

(ซิ่นไทลื้อ)

                ซิ่นไทยลื้อจังหวัดน่านมีซิ่น ๒ แบบ คือ ซิ่นม่าน นิยมทอตัวซิ่นเป็นลายริ้วขวางลำตัว ขนาดริ้วไม่เท่ากัน และซิ่นป้อง เป็นลายริ้วขวางลำตัวเช่นกันแต่ช่องไฟระหว่างลายจะเท่ากันทั้งผืน ซิ่นไทลื้อจังหวัดเชียงรายนิยมทอลายเกาะเป็นลายเรขาคณิต ทอด้วยฝ้าย ตีนซิ่นเป็นผ้าพื้นสีครามเข้ม ไม่นิยมตีนจก

ซิ่นป้อง

(ซิ่นป้อง)

                 ซิ่นชาวไทลื้อที่ทอเป็นริ้วเล็กๆ สลับกัน มีลายมุกคั่นด้วยไหมเงิน ไหมทอง ตัวริ้วคั่นด้วยสีพื้นสีเดียว สลับสีเป็นริ้วเล็กๆ ทอลายขิดสลับริ้วสีพื้นเป็นปล้องๆ มีช่องว่างระหว่างลายเท่ากันจึงเรียกว่า ซิ่นป้อง คือมีลายเป็นปล้องๆ

ซิ่นมัดหมี่(ถิ่น-อีสาน)

(ซิ่นมัดหมี่ไทลาว)

                ซิ่นที่ทอด้วยวิธีการมัดหมี่ มักทอจากฝ้ายและไหม ชาวไท-ลาวมักทอเป็นลวดลายริ้วในแนวตั้ง ตีนซิ่นแคบเพียง ๒-๓ นิ้ว มีทั้งชนิดมีลายและไม่มีลาย มักทอด้วยฝ้ายเพื่อให้มีน้ำหนักถ่วงซิ่นให้แนบตัว

ซิ่นแม่แจ่ม(ถิ่น-เหนือ)

(ซิ่นไทยวน)

                ซิ่นกลุ่มไทยวนอำเภอแม่แจ่ม ประกอบด้วยหัวซิ่น มักต่อด้วยผ้าพื้นสีขาว ตัวซิ่นเป็นลายขวางลำตัวสีเข้ม เชิงซิ่นต่อด้วยตีนจก ปลายเชิงหรือสะเปาแคบ ปล่อยเป็นพื้นสีแดง

ซิ่นเมืองพง(ถิ่น-เหนือ)

                ซิ่นของชาวไทลื้อบริเวณอำเภอเชียงคำ เป็นซิ่นลายขวาง ทอด้วยลายขัดธรรมดา

ซิ่นเมืองลิน(ถิ่น-เหนือ)

                ซิ่นของชาวไทลื้ออำเภอเชียงคำ เป็นซิ่นลายขวาง มีลายคั่นตกแต่งกลางตัวซิ่นด้วยลายเกาะ

ซิ่นลายชะโด

                ซิ่นของชาวไทโซ่ง เป็นซิ่นสีครามเข้มเกือบดำ ลายสีขาวเป็นริ้วขนานลำตัว (ดู ซิ่นไทโซ่ง)

ซิ่นลายน้ำไหล(ถิ่น-เหนือ)

(ซิ่นลายน้ำไหล จังหวัดน่าน)

                ซิ่นที่สร้างลวดลายโดยการล้วงด้วยมือ คล้ายสายน้ำ จึงเรียก ลายน้ำไหล ลักษณะการทอจะทอคั่นเป็นริ้วๆ ตามแบบชาวไทลื้อที่นิยมใช้ไหมเงินและไหมทอง ส่วนลายน้ำไหลจะคั่นด้วยลายมุกหรือลายซิ่นป้อง ภายหลังได้พัฒนารูปแบบไปเรื่อยๆ เช่น ลายน้ำไหลสอดสี เรียกว่า ลายน้ำไหลสายรุ้ง

ซิ่นลาว (ดู ซิ่นมัดหมี่)

(ซิ่นลาวแบบหลวงพระบาง ต่อหัวซิ่น ตีนซิ่น)

ซิ่นล้วง(ถิ่น-เหนือ)

(ซิ่นลายน้ำไหล จังหวัดน่าน)

                ซิ่นที่ทอด้วยการล้วงด้วยมือเพื่อสร้างลายบนผืนผ้า มักทำเป็นลายน้ำไหลและลายรูปสัตว์คั่นด้วยลายเก็บมุกลายใหญ่

ซิ่นแหล้ (ดู ซิ่นก่านคอควาย)

(ซิ่นแหล้ อำเภอสูงเม่น)

 

อักษร ญ

ญับ(ไทยวน)

                การตัดสิ่งต่างๆ เช่น ญับผ้า หรือ ตัดผ้า เป็นภาษาถิ่นของกลุ่มชนไทยวน

หญิบ(ไทยวน)

                ภาษาถิ่นของกลุ่มไทยวน หมายถึง การเย็บ เช่น หญิบผ้า

อักษร ด

ดอก

(ผ้ายกนครศรีธรรมราช)

                ผ้าที่มีลวดลายเป็นดอกเป็นดวง หรือรูปดอกไม้ชนิดต่างๆ ลวดลายนี้อาจเกิดจากการทอหรือการพิมพ์ เรียก ผ้าดอก หรือผ้าลายดอก

ด้าย

                วัสดุที่ทำเป็นเส้นสำหรับถักเป็นตาข่าย ร่างแห ทอเป็นผืนผ้าหรือใช้เย็บผ้า แต่เดิมทำด้วยปุยฝ้าย โดยนำปุยฝ้ายมาปั่นให้เป็นเส้น ด้ายอาจมีสีตามธรรมชาติของฝ้ายคือ สีขาว สีขาวนวล หรือย้อมเป็นสีต่างๆ ปัจจุบันทำจากใยสังเคราะห์หลายชนิด

                ด้ายเส้นพุ่ง  ด้ายที่อยู่ในกระสวยสำหรับพุ่งในแนวนอน แล้วใช้ฟืมกระทบให้ขัดกันเป็นเนื้อผ้า เส้นพุ่งมีทั้งที่เป็นด้านและเส้นไหม

(เส้นพุ่ง ต้องพุ่งด้วยกระสวยจากด้านขวาไปซ้าย สลับไปมา)

                ด้ายเส้นพุ่งพิเศษ  ด้าย เส้นไหม ดิ้นทองหรือดิ้นเงินที่ใช้เป็นเส้นพุ่งในการทอลายจกหรือลายขิด เพ่อให้เกิดลวดลายและสีต่างไปจากเนื้อผ้าที่ทอด้วยเส้นพุ่งและเส้นยืนชนิดเดียวกัน

(ด้ายเส้นยืน)

                ด้ายเส้นยืน  เส้นด้ายที่ขึงไว้กับเครือหูกในแนวตั้ง โดยสอดผ่านช่องฟืมและเขาหรือตะกอที่โยงไว้กับกี่ทอผ้าและไม้เหยียบหูก ทำให้สามารถยกหรือข่มได้ เมื่อพุ่งกระสวยให้ด้านเส้นพุ่งผ่านแล้วกระทบฟืม ด้ายเส้นพุ่งและด้ายเส้นยืนจะขัดกันเป็นเนื้อผ้า

ดำมะละกา

               ผ้าสีดำที่ย้อมมาจากเมืองมะละกา ประเทศมลายูในอดีต  มักมีสีลูกหว้าแก่ นิยมใช้เป็นผ้านุ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕

ดีดฝ้าย

                การเอาฝ้ายมาใส่กระชุแล้วใช้ไม้กงดีดให้ฝ้ายแตกเป็นปุยฟู จากนั้นจึงนำไปล้อฝ้ายเป็นดิ้ว แล้วนำไปปั่นเป็นเส้นด้าย

ดิ้น

                เส้นเงิน ทอง หรือทองแดง หรือเส้นโลหะหุ้มด้วยทองหรือเงิน มี ๒ ชนิดคือ ดิ้นโปร่ง และดิ้นข้อหนวดกุ้ง ดิ้นใช้ปักลวดลายลงบนผ้าหรือแพรเพื่อให้เกิดลวดลาย หรือทอคั่นสลับกับฝ้ายหรือไหมให้ดูแวววาว

ดิบ

                ด้ายฝ้ายที่ยังไม่ได้ฟอก มีสีขาวหรือสีตุ่น และไม่ได้ย้อมสี เมื่อนำไปทอผ้าเรียก ผ้าดิบ

แดงเทศ

                ผ้าสีแดงที่ทอมาจากต่างประเทศ  สมัยโบราณมักเรียกสิ่งที่มาจากต่างประเทศว่าเทศ เช่น แดงเทศ ผ้าแดงเทศ ม้าเทศ

ใส่ความเห็น